ผู้เขียน: ประหยัด พุดจีบ
• ชื่อ-นามสกุล
นายประหยัด พุดจีบ
• ที่อยู่
เลขที่ 3 บ้านไผ่ หมู่ที่ 13 ตำบลไผ่ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ 32130
โทร. 08-1976-3301 E-mail: prayat.multi@gmail.com
• ความโดดเด่นที่ได้รับการยอมรับ
ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทำให้หมู่บ้านไผ่ หมู่ที่ 13 กลายเป็นหมู่บ้านที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน มีแผนพัฒนาที่ชัดเจน เป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งสู่การพึ่งพาตนเอง กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของชุมชนอื่นๆ คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น
• ชีวประวัติ (โดยละเอียด)
นายประหยัด พุดจีบ เกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2522 ณ บ้านเลขที่ 66 หมู่ 13 ต.ไผ่ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ เป็นบุตรของ นายรวง พุดจีบ (เสียชีวิต) และนางสุเคลื่อน เกษฎา ประกอบอาชีพทำนา ฐานะพออยู่พอกินทำนาเป็นอาชีพหลัก บิดาเป็นนายพรานหาของป่า
เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาที่ โรงเรียนบ้านไผ่ (วันครู 2503) ก็ได้เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ โรงเรียนรัตนบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ มีผลการเรียนดีเป็นอันดับต้นๆ ของโรงเรียน และช่วยเหลืองานครูและโรงเรียนสม่ำเสมอ เดินทางไปโรงเรียนโดยปั่นจักรยานที่ซ่อมจากซากรถจักรยานที่มารดาหาของเก่ามาได้ ด้วยระยะทาง 5 กิโลเมตรตลอด 3 ปี จนเมื่อใกล้จะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บิดาเสียชีวิตกะทันหัน ทำให้ชีวิตพลิกผันต้องไปเรียนต่อที่กรุงเทพมหานคร
ด้วยความเมตตาของครูโรงเรียนรัตนบุรี จึงได้รับทุนมูลนิธิตั้งสินอุปถัมภ์ (โรงแรมแม่น้ำรามาดาพลาซา ถ.เจริญกรุง) ซึ่งอุปการะให้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ โรงเรียนเจ้าพระยาวิทยาคม ถนนพระราม 3 พร้อมๆ กับการฝึกงานโรงแรมตลอดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งก็เรียนได้ดีมาก จบมัธยมปลายในปี 2540 และมีความสนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จนสามารถซ่อมคอมพิวเตอร์และเขียนโปรแกรมสำเร็จรูปให้กับโรงแรมที่ทำงาน
เมื่อครบกำหนดการอุปการะของมูลนิธิฯ ได้สอบเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์-มัลติมีเดีย โดยยืมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไปพร้อมๆ กับการทำงานพิเศษ เช่น ซ่อมคอมพิวเตอร์ รับพิมพ์งาน สอนพิเศษ ร้านพิซซ่า และเขียนโปรแกรม เป็นต้น จบการศึกษาปริญญาตรีเมื่อปี 2545
เมื่อเรียนจบได้เข้าทำงานในบริษัทผลิตโปรแกรมสำเร็จรูป ทำงานได้เพียง 5 วันก็ขอลาออก เนื่องจากมีแนวคิดว่า ชีวิตในเมืองไม่ใช่สิ่งที่ชอบ ไม่สามารถมีความสุขได้ ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี อยู่ด้วยความมุมานะอดทนขวนขวายเรียนรู้ด้วยความยากลำบากและอึดอัดไม่เหมือนอยู่บ้านนอก เรียนจบถึงปริญญาตรีน่าจะมีทางเลือกอื่น ประกอบกับ ความคิดที่อยากนำความรู้กลับไปพัฒนาชุมชน ไปอยู่ดูแลแม่ ซึ่งไม่ค่อยจะได้กลับบ้านบ่อยนัก เพราะปิดเทอมก็ทำงานพิเศษ จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน
สิ่งที่คิดต่อคือ หากจะอยู่บ้านนอกให้คนยอมรับ จะต้องมีงานทำเลี้ยงตัวเองได้ และใช้เวลาว่างไปช่วยชาวบ้านคิดแก้ไขปัญหาในชุมชน จึงได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา เปิดให้บริการเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ บริการอินเทอร์เน็ต รับซ่อม รับออกแบบกราฟิก ถ่ายภาพนิ่ง วิดีโอ รับทำวีดิทัศน์ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยการสอน เว็บไซต์ และเขียนโปรแกรม ระหว่างปี 2545 – 48 ตลอดระยะเวลา 3 ปี มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ มีงานเยอะมาก แต่หาคนมาช่วยงานทางด้านนี้ยากมาก เพราะคนที่ทำเป็นจะไปเป็นลูกจ้างที่เมืองหลวงหมด จึงได้ปิดร้าน และรับงานอิสระอยู่ที่บ้าน เฉพาะงานเขียนเว็บไซต์และโปรแกรม ก็สามารถอยู่ได้สบาย เพราะอยู่กินตามปกติของวิถีชีวิตชนบท
ช่วงปี 2546 ได้รับการยอมรับให้เป็น ประธานกองทุนหมู่บ้าน ได้เรียนรู้และเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงวางแผน คิดวิเคราะห์ร่วมกับคณะกรรมการ พัฒนาปรับปรุงการบริหารจัดการและการให้บริการ โดยอาศัยความรู้ด้านคอมพิวเตอร์พัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการขึ้น จนทำให้ได้รับการยอมรับจากชุมชน เกิดความเชื่อมั่น และภาคภูมิใจกับกองทุนหมู่บ้านของตน
เนื่องจากมุ่งมั่นที่จะมาพัฒนาบ้านเกิด ในระหว่างที่เข้ามาช่วยงานชุมชนด้วยจิตอาสา ไปพร้อมๆ กับการรับงานอิสระด้านคอมพิวเตอร์ ได้สังเกตและเรียนรู้วิถีชีวิต ค่านิยมของชาวบ้านในปัจจุบัน เริ่มมองเห็นปัญหา และนำเสนอแนวทางแก้ผ่านเวทีประชาคม แนวทางแก้ไขที่ได้รับการยอมรับ สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ชุมชนจึงเกิดความเชื่อมั่น และได้ปรับปรุง พัฒนา แก้ไขปัญหา กลุ่มองค์กรต่างๆ ในหมู่บ้าน จนทำให้มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น
ปัจจุบัน นอกจากงานอิสระแล้ว ยังมีงานวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่ผู้มาเยือนมากมาย ด้วยความที่เป็นผู้ปฏิบัติเอง จึงสามารถให้ความกระจ่างในแนวทางการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาแก่คณะศึกษาดูงาน ได้รับการบอกต่อ และรับเชิญเป็นวิทยากรในจังหวัดต่างๆ
ด้วยแนวคิดการพัฒนาที่แตกต่างและเห็นผลในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ก็ได้รับการยอมรับ และแต่งตั้งให้เป็น ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชนด้านสังคม ในปี 2554-2555 เพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ตรวจกระทรวงฯ ในการตรวจติดตามงานในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์
• สาขา/ภูมิปัญญา (บรรยายโดยละเอียด)
- วิทยากรกระบวนการ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิเคราะห์ปัญหา และสามารถถอดองค์ความรู้ เข้าถึงชาวบ้านทุกระดับ มีกลยุทธการเลือกใช้ภาษาสื่อสารที่เข้าง่ายแต่ละกลุ่ม สร้างความเข้าใจแก่คนในชุมชน
- นำวิทยาการที่เรียนรู้มาประยุกต์ในการพัฒนาชุมชน เช่น พัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปในการบริหารจัดการสถาบันการเงินชุมชน ร้านค้าชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน โดยมีลักษณะใช้งานได้ง่าย แม้ผู้ใช้จะมีอายุมาก (40 ปีขึ้นไป) เนื่องจากมีขั้นตอนสำหรับผู้ใช้ที่สะดวก ส่วนติดต่อกับผู้ใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่
- บริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน จนกลายเป็นสถาบันการเงินชุมชนครบวงจรได้ด้วยชุมชนเอง โดยไม่ได้พึ่งพาหน่วยงานภายนอก มีบริการรับฝาก-ถอนเงิน บริการโอนเงิน-รับโอนเงินออนไลน์จากธนาคารต่างๆ รับชำระค่าสาธารณูปโภคออนไลน์ มีการกู้ยืมมากกว่า 10 แบบ เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน
- จัดตั้งและบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลไผ่ (กองทุนสัจจะวันละ 1 บาท) จนเป็นที่ยอมรับทั่วประเทศ ออกแบบระบบการทำงาน เอกสารแบบฟอร์ม กระบวนการทำงาน ตลอดจนการบริหารจัดการเพื่อให้กองทุนเกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิก ซึ่งเป็นกองทุนที่เก็บสัจจะเพียงวันละ 1 บาท จากสมาชิก ดูแลสวัสดิการ การคลอดบุตร การเจ็บป่วย การเสียชีวิต ทุนการศึกษา ประสบภัย และอื่นๆ
- จัดกระบวนการจัดทำแผนชุมชน แบบมีส่วนร่วม จนทำให้มีแนวทางการพัฒนา 5 ปีที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นการใช้ทุนทางสังคมมาขับเคลื่อนกิจกรรมในแผน สามารถดำเนินการได้จริง และแก้ไขปัญหาได้จริง
- ผู้นำบริหารจัดการเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิต แบบโฮมสเตย์ เพื่อให้คณะศึกษาดูงาน มาพักอาศัยกับชาวบ้าน เรียนรู้วิถีชีวิต การหาของป่า การทำอาหาร-ขนมพื้นบ้าน ร่วมสนุกกับการละเล่นพื้นบ้าน และเรียนรู้กระบวนการพัฒนาที่เป็นระบบและเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน
- วิทยากรให้ความรู้ ดังนี้
1) กระบวนการขับเคลื่อนแผนชุมชนด้วยทุนทางสังคมเพื่อการพึ่งพาตนเอง
2) การบริหารจัดการสถาบันการเงินชุมชน
3) การบริหารจัดกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลไผ่ (สัจจะวันละบาทเพื่อสวัสดิการตลอดชีวิต)
4) การค้นหาและพัฒนาทุนทางสังคมและการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชุมชน
5) วิทยากรกระบวนการค่ายทักษะชีวิตและการส่งเสริมคุณค่าชีวิตเด็กและเยาวชน
6) เทคโนโลยีกับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
7) สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียน นักศึกษาก่อนจบการศึกษา
8) การบริหารจัดการหมู่บ้านโฮมสเตย์เพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิตตามบริบทของชุมชน
ฯลฯ
• หลักการปฏิบัติ/ภาวะผู้นำ ที่ยึดถือปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ
1. ชุมชนมีทุนทางสังคม คือ คนเก่งคนดี ภูมิปัญญา กลุ่มองค์กร ทรัพยากร และวัฒนธรรม ที่ดีอยู่แล้วและสามารถพัฒนาได้ หากเราเรียนรู้วิธีการหยิบสิ่งเหล่านี้มาเชื่อมโยงให้เกิดกิจกรรมที่ดี ก็สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชุมชนได้
2. ขึ้นชื่อว่าชุมชน ไม่เคยหมดปัญหา เพราะเป็นสังคมของคนหมู่มาก และปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นเป็นปรกติ เราต้องยอมรับ และความสำเร็จไม่ใช่เพราะชุมชนหมดปัญหา แต่หมายถึงชุมชนเรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง
3. มนุษย์ทุกคนในชุมชนล้วนมีศักยภาพของตนเองมากมาย อย่าเอาศักยภาพของเราเป็นมาตรฐาน เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่เรายังต้องเรียนรู้อีกมาก ต้องให้เกียรติคนทุกคน แม้จะเป็นเด็ก คนบ้า คนพิการ คนไร้สัญชาติ หรือคนด้อยโอกาส เพราะเขาเหล่านั้นคือส่วนหนึ่งของสังคม ย่อมอยากใช้ศักยภาพของตนสร้างสรรค์สังคมได้ ต้องให้โอกาสเสมอ
4. อย่าดูแคลนความเชื่อและภูมิปัญญา ถ้าได้เรียนรู้อย่างถ่องแท้ เข้าใจเหตุและผลแล้ว จะรู้ว่า บรรพบุรุษยังมีกลยุทธที่แยบยลในการสร้างสิ่งมีคุณค่า และคำสอนที่ประเสริฐ ให้เราได้มีวันที่ดี เพราะบางความเชื่อทำให้ป่ายังอุดมสมบูรณ์ได้ บางความเชื่อทำให้คนไม่เห็นแก่ตัว บางภูมิปัญญาช่วยลดรายจ่ายเพิ่มรายได้มากมาย บางความเชื่อและภูมิปัญญาสอนคุณธรรมจริยธรรมให้คนมีจิตใจสูง
5. อย่าคิดว่าทุกฝันจะเป็นไปไม่ได้ ต้องวางเป้าหมายให้ชัดเจน มีแนวทางเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน แล้วมุ่งมั่นไปด้วยกันโดยอาศัยเวทีการมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมรับประโยชน์ ปัญหาไม่ใช่ของเราคนเดียว เล่าสู่กันฟังจะได้มีทางเลือกแก้ไขมากขึ้นและเลือกที่ดีที่สุด
6. ชุมชนต้องยอมรับปัญหาร่วมกัน ไม่หลอกตัวเอง ไม่ผักชีโรยหน้า นำปัญหาจริงมาพูด และช่วยกันแก้ไข ผลจะดีไม่ดี ก็นำมาเล่าผ่านเวที ให้ทุกคนยอมรับ และเรียนรู้การแก้ไขต่อไปเรื่อยๆ
7. การเลือกตั้งแบบหย่อนบัตรสร้างความขัดแย้งทุกระดับ (จากผลการวิจัยหลายสถาบัน) สามารถใช้กิจกรรมชุมชน ความเชื่อและศรัทธาร่วมกัน จัดกิจกรรมบ่อยครั้งให้ทุกคนมีส่วนร่วมกัน ก็จะทำให้คลายความขัดแย้งลงได้
8. การเป็นผู้นำที่ดี คือ ต้องอ่อนน้อมที่สุดในบรรดาคนทั้งหมดในชุมชน นั่นคือ รับฟังทุกคน เอาใจใส่ให้เกียรติทุกคน นำความคิดของทุกคนมาประมวลผลร่วมกัน
9. มีความเป็นกลางและเป็นธรรม ไม่เห็นแก่ญาติมิตร มีมาตรฐานเดียวกัน ผิดคือผิด ถูกคือถูก ทุกคนเท่าเทียมกัน บางครั้งต้องยืดหยุ่นบ้างแต่ก็ต้องยืดหยุ่นกับทุกคน และต่างเข้าใจในเหตุผลร่วมกัน
10. ความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ให้มีการตรวจสอบได้ตลอดเวลา ชี้แจงการดำเนินงานเป็นประจำทุกปี ปัญหาทุกอย่าง สามารถแก้ไขได้ถ้าเข้าสู่เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
11. พึงรักษาวัฒนธรรมการพึ่งพาอาศัย ความเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อย่าให้ทุนนิยมหรือเงิน มาทำลายสิ่งเหล่านี้ ถ้าหากจะมีเกิดขึ้น ก็ไม่ต้องรับทุนหรือเงินนั้นเข้ามา อย่าให้เงินมาก่อนความคิด เพราะเงินเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น
• รางวัล/เกียรติบัตร ที่ได้รับ
1. บุคคลดีเด่น ด้านมีจิตสาธารณะ เสียสละ อุทิศตนเพื่องานพัฒนาชุมชน ของจังหวัดสุรินทร์ ปี 2551
2. บุคคลที่มีการปฏิบัติงานผ่านระบบมาตรฐานงานชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน ปี 2551
โดยมีผลงานการขับเคลื่อนหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2546 - ปัจจุบัน และได้รับการยอมรับทั่วไป ดังนี้
1. แผนชุมชนคุณภาพระดับดีเยี่ยม ของจังหวัดสุรินทร์ ปี 2551 และได้รับการตรวจเยี่ยมจากผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
2. หมู่บ้านสุรินทร์อยู่ดีมีสุข จังหวัดสุรินทร์ ปี 2551
3. หมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ระดับ 3 “มั่งมี ศรีสุข” จังหวัดสุรินทร์ ปี 2551-ปัจจุบัน
4. เป็น 1 ใน 8 ชุมชนของทั้งประเทศที่ได้รับเลือกในโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาทุนทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2551-2552
5. หมู่บ้านผ่านระบบมาตรฐานงานชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน ปี 2551
6. “กองทุนหมู่บ้าน” ได้รับเชิดชูเกียรติเป็นกิจกรรมพัฒนาชุมชนดีเด่น โล่รางวัลสิงห์ทอง กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ปี 2553
7. เป็นพื้นที่ตัวอย่าง รับประเมินนายอำเภอของประชาชน (นายอำเภอแหวนเพชร) ปี 2553
8. กลุ่มเยาวชนคลื่นลูกใหม่ทิวไผ่งาม จัดตั้งเอง มีกิจกรรมต่อเนื่อง ได้รับความสนใจเข้าศึกษาดูงานและรับเชิญเป็นวิทยากรกลุ่ม
9. เป็นแหล่งศึกษาดูงานเรื่อง แผนชุมชน การบริหารสถาบันการเงินชุมชน การบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชน แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตพอเพียง มากกว่า 30 คณะ
• รูปภาพ ผู้นำ/กิจกรรมทางสังคม
เฟสบุคส่วนตัว: http://www.facebook.com/prayat.putjeeb
เฟสบุคหมู่บ้าน: http://www.facebook.com/phai13
เฟสบุคกองทุนสวัสดิการชุมชน: http://www.facebook.com/phaicare
เว็บไซต์กองทุนสวัสดิการชุมชน: http://www.phaicare.com
เฟสบุคกลุ่มเยาวชน: http://www.facebook.com/tiwphai
ลิงค์เยาวชนสัมภาษณ์ ThaiPBS: http://www.youtube.com/watch?v=5ra881Wd7dE
ลิงค์นายกรัฐมนตรีเด็กฯ เยาวชนในพื้นที่: http://www.youtube.com/watch?v=U1oz6DhWap4
ลิงค์วิดีโอกองทุนหมู่บ้าน: http://www.youtube.com/watch?v=6kTiy9XvYz4
ลิงค์รายการทุ่งแสงตะวัน: http://www.youtube.com/watch?v=Jv0A0k7YwLs
ตารางแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ กีฬาประเพณีบ้านไผ่ ครั้งที่ ๓๕
ตารางการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ กีฬ…
ตารางแข่งขันรอบรองชนะเลิศ กีฬาประเพณีบ้านไผ่ ครั้งที่ ๓๕
ตารางการแข่งขันรอบรองชนะเลิศ (รอบไขว้) วันที่ ๒๓ ธันวาค…
สรุปคะแนนรอบคัดเลือก การแข่งขันกีฬาประเพณีบ้านไผ่ ครั้งที่ ๓๕
สรุปคะแนนรอบคัดเลือก กีฬาประเพณีบ้านไผ่ ครั้งที่ ๓๕ บ้า…
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
เล่มเอกสารหมู่บ้านสารสนเทศต้นแบบมาแล้วครับ
จากการประเมินการดำเนินงาน หมู่บ้านสารสนเทศต้นแบบเพื่อกา…
จากภูมิปัญญาสู่อาชีพ น้ำพริกแม่ชม้อย
“แม่ชม้อย” นามที่นิยมเรียกขาน คุณแม่เข็มทอง…
ปรับปรุงร่องระบายน้ำศูนย์เรียนรู้
ช่างในหมู่บ้าน ร่วมกันปรับปรุงร่องระบายน้ำ หลังศูนย์เรี…
ประชุมติดตามสารสนเทศชุมชน
นายสมพร พูลเพิ่ม พัฒนาการอำเภอรัตนบุรี นางบุญญิสา จันทร…