ประวัติหมู่บ้าน

บ้านไผ่ หมู่ที่ 13 เดิมชื่อว่า “บ้านกอก” (ปรากฏในทะเบียนผู้ใช้ไฟฟ้า กฟภ. ในครัวเรือนที่ขอใช้ไฟฟ้าแรกๆ) ความเป็นมาของบ้านกอกไม่มีการบันทึกไว้ชัดเจน แต่เล่าต่อๆ กันมาว่า เป็นชาวบ้านกลุ่มหนึ่งตั้งรกรากอยู่ห่างจากบ้านไผ่เดิมไปทางทิศใต้ประมาณ ๒ กิโลเมตร เรียกว่า “บ้านกอก” ด้วยมีต้นมะกอกเยอะ แต่บริเวณนั้นเป็นป่าล้อมรอบ มีสัตว์ป่า เช่น เสือ มาทำร้ายชาวบ้านและพืชผลทางการเกษตร ประกอบกับเกิดโรคระบาด ชาวบ้านจึงได้อพยพขึ้นมาอยู่ติดกับเขตทางทิศใต้ของบ้านไผ่ เมื่อครั้งแบ่งเขตการปกครองในระยะแรก จะเรียกรวมกันว่า “บ้านไผ่ หมู่ที่ ๑” หมู่เดียว ต่อมาเมื่อมีการขยายตัวของครัวเรือนมากขึ้น และได้แบ่งเขตการปกครองบ้านไผ่ออกเป็น ๖ หมู่บ้าน ทำให้เขตพื้นที่ทางทิศใต้หรือ “บ้านกอก” เดิม แยกออกมาเป็น “หมู่ที่ ๑๓” และมักจะได้ยินผู้อาวุโสบ้านไผ่ เรียกว่า “บ้านกอก” อยู่บ้างตามที่เคยเรียกมาในอดีต
สำหรับบ้านไผ่นั้น มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อๆ กันมาว่า “หลวงปู่แพ่ง หรือ คุณตาหลวงแพ่ง หรือ อีปู่แพ่ง” ผู้ก่อตั้งบ้านไผ่ ได้อพยพผู้คนมาจากบ้านผักบุ้ง (บ้านน้อยสนาม) ทิศเหนืออำเภอรัตนบุรีปัจจุบัน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่ม จะเกิดอุทกภัยบ่อยครั้งในช่วงฤดูฝน ท่านได้นำพาผู้คนอพยพมาอยู่ในที่ราบน้ำท่วมไม่ถึง ซึ่งขณะนั้นจะมีสภาพเป็นป่าไผ่ทั้งหมด จึงได้เรียกว่า “บ้านไผ่” จนถึงปัจจุบัน
ลักษณะทางภูมิศาสตร์
บ้านไผ่ หมู่ที่ 13 ตำบลไผ่ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอ อยู่ห่างจากตัวอำเภอ เป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๑,๓๘๘ ไร่ แบ่งเป็น ที่อยู่อาศัยประมาณ ๒๖๘ ไร่ ที่ดินทำกินประมาณ ๙๒๕ ไร่ พื้นที่ป่าประมาณ ๑๔๖ ไร่ และที่ดินอื่นประมาณ ๔๙ ไร่ มีอาณาเขตดังนี้
– ทิศเหนือ จรด บ้านไผ่ หมู่ที่ 2, 11 และหมู่ที่ ๑๔ ตำบลไผ่
– ทิศใต้ จรด ป่าดงหินล้ม และตำบลระเวียง อำเภอโนนนารายณ์
– ทิศตะวันออก จรด บ้านไผ่ หมู่ที่ 1 ตำบลไผ่
– ทิศตะวันตก จรด บ้านไผ่น้อย หมู่ที่ 9 ตำบลไผ่ และป่าดงหินล้ม
สภาพพื้นที่เป็นลักษณะ เป็นที่ราบสูง ลาดเอียงเล็กน้อยจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก เป็นชุมชนแบบชนบท การอาศัยอยู่ของครัวเรือนหนาแน่นบริเวณฝั่งตะวันออก ด้านฝั่งตะวันตกมีการอาศัยอยู่เบาบาง ถนนภายในหมู่บ้านตัดกันคล้ายรูปสี่เหลี่ยม บ้านเรือนส่วนใหญ่จะอยู่ติดถนน