
องค์ความรู้ : การพัฒนาหมู่บ้านสารสนเทศต้นแบบฯ (สมพร พูลเพิ่ม)
การพัฒนาหมู่บ้านสารสนเทศต้นแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
บ้านไผ่ หมู่ที่ ๑๓ ตำบลไผ่ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์
บทนำ
กรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ ดำเนินการโครงการหมู่บ้านสารสนเทศต้นแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล ตระหนักถึงความสำคัญเห็นประโยชน์ของข้อมูล ยอมรับและนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีเป้าประสงค์ของโครงการ คือ การมีรูปแบบการจัดการสารสนเทศเพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและบริหารจัดการชุมชน ตลอดจนการเกิดเครือข่ายการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศชุมชน
ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุรินทร์โดยนางสาวอรษา โพธิ์ทอง พัฒนาการจังหวัดสุรินทร์ ได้มอบหมายให้กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชนและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ๑๗ อำเภอ สรุปบทเรียนการขับเคลื่อนโครงการที่ผ่านมาว่ามี ข้อเด่น ข้อด้อย อย่างไรบ้าง เพื่อนำไปปรับปรุงการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จ และมอบหมายสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคัดเลือกหมู่บ้านสารสนเทศต้นแบบฯ ให้คณะทำงานจังหวัดพิจารณาคัดเลือก ๑ หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านสารสนเทศต้นแบบฯ ของจังหวัด ตามแนวทางและคุณสมบัติที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด
บ้านไผ่ หมู่ที่ ๑๓ ตำบลไผ่ อำเภอรัตนบุรี เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านสารสนเทศต้นแบบฯ ของจังหวัดสุรินทร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๘ คณะทำงานในระดับจังหวัด/อำเภอ ได้บูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านฯตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน ๕+๑ กระบวนการ ร่วมกับคณะทำงานฯของหมู่บ้าน การพัฒนาหมู่บ้านสารสนเทศฯได้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมและเรียนรู้ข้อมูลของตนเอง สร้างระบบฐานข้อมูลของชุมชนที่ทันสมัยด้วย ICT ร่วมกันจัดทำสารสนเทศชุมชนหลากหลายรูปแบบ นำสารสนเทศที่จัดทำขึ้นไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน นำไปใช้บริหารจัดการชุมชนผ่านกระบวนการวางแผนพัฒนาหมู่บ้าน มีระบบการบำรุงรักษาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศที่ทันสมัยมีความปลอดภัย มีการเผยแพร่และให้บริการสาธารณชนผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สามารถเป็นแบบอย่างการจัดการข้อมูลและสารสนเทศของชุมชนสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในโลกยุคดิจิตอลที่ชุมชนไม่อาจหลีกหนีได้ แต่ต้องเรียนรู้และใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ผลสำเร็จดังกล่าวมีกระบวนการขั้นตอนในการดำเนินงาน ดังนี้
กระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านสารสนเทศฯ
กระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านสารสนเทศฯ ให้ประสบผลสำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าประสงค์ที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดไว้ จะมีความเกี่ยวข้องกันตั้งแต่ในระดับจังหวัดจนถึงระดับหมู่บ้าน ตามกระบวนการขับเคลื่อน ดังนี้
๑. การคัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมาย

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ได้มอบหมายสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ คัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมายอำเภอละ ๑ หมู่บ้าน ตามแนวทางและคุณสมบัติที่กรมฯกำหนด และแต่งตั้งคณะทำงานคัดเลือกระดับโซนพื้นที่ ๓ โซน คัดเลือกเหลือโซนละ ๑ หมู่บ้าน และนำเสนอให้คณะทำงานระดับจังหวัดที่มีพัฒนาการจังหวัดสุรินทร์ เป็นหัวหน้า พิจารณาคัดเลือกให้เหลือ ๑ หมู่บ้าน ที่จะเป็นเป้าหมายดำเนินการของจังหวัด และในการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายในครั้งนี้ ได้มอบหมายให้หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน ร่วมกับพัฒนาการอำเภอที่เป็นอำเภอเป้าหมายลงพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมาย ๓ หมู่บ้าน เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงคุณภาพประกอบการตัดสินใจของคณะทำงานจังหวัด
คณะทำงานฯจังหวัดพิจารณาคัดเลือกบ้านไผ่ หมู่ที่ ๑๓ ตำบลไผ่ อำเภอรัตนบุรี ให้เป็นหมู่บ้านสารสนเทศต้นแบบฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ มีองค์ประกอบและคุณสมบัติที่น่าในใจ ดังต่อไปนี้
๑) เป็นหมู่บ้านที่มีความพร้อมในด้านสถานที่และอุปกรณ์ ICT กล่าวคือ มีศูนย์เรียนรู้ชุมชนที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประชาชน เป็นที่ตั้งของศูนย์ USONET มีคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ จำนวน ๑๐ ชุด สามารถเชื่อมต่อระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลา มีการให้บริการประชาชนมาอย่างต่อเนื่องทุกวัน
๒) ชุมชนมีบุคลากรที่มีความรู้ทักษะด้านคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี เช่น คุณประหยัด พุดจีบ ผู้ดูแลศูนย์ USONET จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านมัลติมีเดีย สามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และพัฒนาระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของชุมชน และกลุ่มเยาวชนทิวไผ่งาม จะเป็นบุคลากรหลักสำคัญของชุมชนที่มีความรู้และทักษะด้านคอมพิวเตอร์จะเข้าร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศของชุมชนได้
๓) ผู้นำของชุมชนและคนในชุมชน ได้ผ่านการเรียนรู้การใช้ประโยชน์จาก ICT ที่หมู่บ้านมีการพัฒนาเป็นโปรแกรมระบบฐานข้อมูลกิจกรรมในชุมชน เช่น เช่นโปรแกรมรับจ่ายเงินของสถาบันการเงินชุมชน โปรแกรมจำหน่ายสินค้าของศูนย์สาธิตการตลาด เป็นต้น
๔) เป็นหมู่บ้านที่ผ่านกระบวนการพัฒนาหมู่บ้านร่วมกับส่วนราชการและภาคีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนมีผลงานเป็นที่ปรากฏ เช่น หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ดีมีสุข ปี ๒๕๕๑ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ปี ๒๕๕๑ หมู่บ้านแผนชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด หมู่บ้านนำร่อง ๑ ใน ๘ ของประเทศ วิจัยเรื่องทุนชุมชน ฯลฯ
๕) เป็นหมู่บ้านแกนหลักดำเนินกิจกรรมกองทุนสวัสดิการชุมชนของตำบลไผ่ และการพัฒนาเยาวชน ที่มีชุมชนทั่วประเทศเดินทางมาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง
๖) เป็นหมู่บ้านที่มีการจัดทำรายงานการพัฒนาหมู่บ้าน (VDR) อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๕๑
๒. การเข้าประชุมเตรียมความพร้อมในส่วนกลาง
การเข้าร่วมการประชุมเตรียมความพร้อมดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านสารสนเทศฯ ในส่วนกลาง เป็นการเข้าร่วมรับฟังนโยบายแนวทางการดำเนินงานของหมู่บ้านในส่วนกลาง จากผู้บริหารระดับสูงของกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติจริงในระดับหมู่บ้าน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแจ้งให้สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอรัตนบุรีมอบหมายพัฒนากรผู้ประสานงานประจำตำบล (คุณบุญญิสา จันทร์ทอง) และผู้นำชุมชน (คุณประหยัด พุดจีบ) เป็นผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อกลับมาร่วมกับคณะทำงานจังหวัด/อำเภอ ขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านฯให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าประสงค์ของโครงการที่ตั้งไว้ เป็นการคัดเลือกและพัฒนาคนทำงานจริงในพื้นที่ ๒ คน บนความแตกต่างที่ลงตัว พัฒนากรผู้ประสานงานประจำตำบล เชี่ยวชาญเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ผู้นำชุมชนเชี่ยวชาญพื้นที่รู้จักบริหารจัดการคน มีทักษะด้าน ICT เป็นอย่างดี คนปฏิบัติจริงรับทราบนโยบาย เป้าหมาย แนวทางที่ชัดเจน ตรงกัน การประสานการทำงานร่วมกันไม่มีปัญหา เป็นคู่มิตรในการทำงานที่มองตารู้ใจ งานมีโอกาสำเร็จสูง
๓. การเตรียมกลไกขับเคลื่อนในระดับอำเภอ/หมู่บ้าน
หลักจากที่พัฒนากรผู้ประสานประจำตำบลและผู้นำชุมชนได้เข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมในส่วนกลาง เป็นหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอต้องสร้างกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านในระดับอำเภอ/หมู่บ้าน เพื่อสร้างทีมสนับสนุนในระดับอำเภอและทีมปฏิบัติการในระดับหมู่บ้าน ในระดับอำเภอแต่งตั้งคณะทำงานฯ มีปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครองเป็นหัวหน้า หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคีการพัฒนาระดับอำเภอเป็นคณะทำงาน โดยมีพัฒนาการอำเภอเป็นเลขานุการคณะทำงาน พัฒนากรผู้ประสานงานประจำตำบลไผ่ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่บูรณาการความร่วมมือโครงการ/กิจกรรมลงไปสนับสนุนหมู่บ้าน สนับสนุนส่งเสริมการขับเคลื่อนกิจกรรมในระดับพื้นที่ เชื่อมโยงการขับเคลื่อนของคณะทำงานจังหวัดกับคณะทำงานหมู่บ้าน คณะทำงานหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้า คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำคุ้ม ผู้นำกลุ่ม และปราชญ์ชาวบ้าน เป็นคณะทำงาน โดยมีผู้ดูแลศูนย์ USONET เป็นเลขานุการ และตัวแทนกลุ่มเยาวชนทิวไผ่งาม เป็นผู้ช่วยเลขานุการ และมีที่ปรึกษาคณะทำงานระดับหมู่บ้าน ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเจ้าหน้าที่ระดับตำบลจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือและสนับสนุนให้การขับเคลื่อนกระบวนการระดับหมู่บ้านเป็นไปตามแผนปฏิบัติการ และเชื่อมโยงโครงการ/กิจกรรมลงสู่การแก้ไขปัญหาตามสารสนเทศชุมชนชี้ทิศทางไว้
๔. การประชุมสร้างความเข้าใจร่วมกันของคนในหมู่บ้านเป้าหมาย

การขับเคลื่อนโครงการให้ประสบผลสำเร็จ ผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะต้องรับรู้เข้าใจและมีส่วนร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอน
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุรินทร์ได้มอบหมายกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชนในฐานะเลขานุการคณะทำงานจังหวัด ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอรัตนบุรีในฐานะเลขานุการคณะทำงานฯอำเภอ จัดกิจกรรมประชุมสร้างความเข้าใจและกำหนดความต้องการด้านสารสนเทศของชุมชนกับคณะทำงานฯระดับหมู่บ้านและประชาชนในหมู่บ้าน จำนวน ๔๐ คน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ๒๕๕๘ ตามประเด็นหัวข้อและผลสรุป ดังนี้
๑) ความสำคัญของข้อมูลและการนำไปใช้ประโยชน์ ให้ความรู้เรื่องความหมายข้อมูล สารสนเทศ และตัวอย่างการนำข้อมูลและสารสนเทศไปใช้ประโยชน์ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้าใจและเห็นความสำคัญของข้อมูลและสารสนเทศ
๒) ร่วมกันเรียนรู้หมู่บ้านมีข้อมูลอะไรบ้าง และมีการนำไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง
๒.๑) ข้อมูลที่มีในหมู่บ้าน เช่น ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี ๒๕๕๘ ข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช.๒ค) ปี ๒๕๕๘ ข้อมูลทุนชุมชน ข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น ข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย ข้อมูลผู้นำชุมชน ข้อมูลกลุ่ม/กองทุนต่างๆในหมู่บ้าน ฯลฯ
๒.๒) การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ เช่น ทบทวนปรับปรุงแผนพัฒนาหมู่บ้าน จัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน จัดทำรายงานการพัฒนาหมู่บ้าน ติดตามประเมินผลการพัฒนาหมู่บ้านที่ผ่านมา ฯลฯ
๓) การกำหนดความต้องการร่วมกัน โดยการจัดเวทีให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้
๓.๑) ทบทวนวิสัยทัศน์การพัฒนาหมู่บ้าน ได้ข้อสรุป คือ “ศูนย์การเรียนรู้ที่หลากหลาย สังคมพึ่งพาตนเองได้ในทุกด้าน มีสวัสดิการของคนทุกวัย ภายใต้การจัดการชุมชนอย่างเป็นระบบ”
๓.๒) การออกแบบระบบข้อมูลสารสนเทศของหมู่บ้าน ได้ข้อสรุป ดังนี้
– ข้อมูล (DATA) รวบรวมข้อมูลของชุมชนที่มีอยู่แล้วอย่างกระจายมาจัดการให้เป็นระบบฐานข้อมูลแต่ละด้านเพื่อสะดวกในการนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการใช้ระบบ ICT เข้ามาจัดการพัฒนาเป็นระบบฐานข้อมูลออนไลน์เรียลไทม์นำเสนอและให้บริการในเชิงพื้นที่(แผนที่)และสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลแต่ละฐานเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์เป็นสารสนเทศได้ ประกอบด้วย
๑) ระบบฐานข้อมูล คุ้ม
๒) ระบบฐานข้อมูลครัวเรือน
๓) ระบบฐานข้อมูลถนนในหมู่บ้าน
๔) ระบบฐานข้อมูล ทุนสังคม (ทุนมนุษย์ ทุนสถาบัน/องค์กร ทุนวัฒนธรรม ทุนทรัพยากร)
๕) ระบบฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)
๖) ระบบฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต (ออกแบบเก็บข้อมูลเพิ่มเติม)
– เครื่องมือ (TOOL) ออกแบบเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมนำระบบ ICT เข้ามาใช้ในการจัดการระบบฐานข้อมูลทุกฐาน ดังนี้
๑) เครื่องมือจัดเก็บข้อมูลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต (เพิ่มเติม) ให้มีองค์ประกอบ คือ ข้อมูลครัวเรือน รายรับ รายจ่าย เครื่องใช้ สัตว์เลี้ยง ทักษะภูมิปัญญา หนี้สิน ขนาดหนึ่งหน้าเอสี่ มอบหมายกลุ่มเยาวชนทิวไผ่งามเป็นผู้จัดเก็บจากหัวหน้าครัวเรือน
๒) โปรแกรมจัดการฐานข้อมูลและสารสนเทศ
– โปรแกรม Microsoft Excel ใช้จัดการข้อมูลที่มีอยู่แล้วให้สามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ (แผนที่) ด้วยรหัสการเชื่อมฐานข้อมูลที่กำหนดขึ้น
– โปรแกรม Application on Web ใช้จัดการข้อมูลให้เป็นสารสนเทศในรูปแบบการนำเสนอเป็นตาราง กราฟ ผ่านเว็บไซต์
– โปรแกรมบันทึกข้อมูลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ใช้ในการบันทึกข้อมูลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านเว็บไซต์ ให้เชื่อมโยงกับข้อมูลเชิงพื้นที่ (แผนที่) ของ Google Map
– โปรแกรม Google Map ใช้ในการบันทึกพิกัดข้อมูลเชิงพื้นที่ นำเสนอและสืบค้นข้อมูลและสารสนเทศในเชิงพื้นที่ (แผนที่) ในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงพื้นที่เป็นสารสนเทศในลักษณะแผนที่ข้อมูล ในรูปแบบอิเลคทรอนิกส์และเอกสารแผนที่
๔) การกำหนดประเด็นทางเลือกการพัฒนาสารสนเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
การประชุมประชาคมผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันวิเคราะห์ทางเลือกประเด็นการพัฒนาสารสนเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้เรดาร์ไดอะแกรม พบว่า ปัญหาแต่ละด้านยังไม่มีความแตกต่างกันมากนัก จึงเห็นสมควรจัดทำสารสนเทศใน ๔ ด้าน ประกอบด้วย สารสนเทศเพื่อการพัฒนาอาชีพ สารสนเทศเพื่อการจัดการทุนของชุมชน สารสนเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการชุมชน ยกเว้น สารสนเทศเพื่อจัดการความเสี่ยงของชุมชน เนื่องจากทุกคนมองเห็นว่าชุมชนไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องเรื่องดังกล่าว
ที่ประชุมมีข้อเสนอให้เลขานุการคณะทำงานฯของหมู่บ้านพัฒนาเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของหมู่บ้านและพัฒนาเป็นสารสนเทศประกอบการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในระยะเวลาเร่งด่วนต่อไป
๕. การจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ผลจากการจัดเวทีประชาคมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กำหนดทิศทางความต้องการด้านสารสนเทศของชุมชนและมอบหมายภารกิจผู้เกี่ยวข้องไปดำเนินการ โดยการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานของคณะทำงานฯ ทุกระดับ โดยเน้นหนักให้พัฒนาการอำเภอและพัฒนากรผู้ประสานงานประจำตำบลไผ่ ได้ติดตามผลความก้าวหน้าการดำเนินงานทุกสัปดาห์ มีความก้าวหน้าการจัดทำสารสนเทศ ดังนี้
๕.๑ ออกแบบเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลคุณภาพชีวิต โดยบูรณาการกับโครงการจัดเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาสุขภาวะ ปี ๒๕๕๗ แบบเก็บข้อมูลขนาด A๔ ข้อมูล ๑ หน้า ประกอบด้วย ข้อมูลครัวเรือน ข้อมูลรายรับ รายจ่าย เครื่องใช้ในครัวเรือน สัตว์เลี้ยงในครัวเรือน ทักษะภูมิปัญญา และหนี้สินครัวเรือน และจัดทำแบบเก็บข้อมูล ๑๕๒ แผ่น
๕.๒ พัฒนาโปรแกรมบันทึกข้อมูลคุณภาพชีวิต เลขานุการคณะทำงานหมู่บ้าน (คุณประหยัด พุดจีบ) ร่วมกับเลขานุการกลุ่มเยาวชนทิวไผ่งาม ออกแบบและเขียนโปรแกรมบันทึกข้อมูลคุณภาพชีวิตด้วยโปรแกรม Microsoft Access ร่วมกับโปแกรม Web Application ให้สามารถบันทึกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ และเชื่อมโยงกับโปรแกรม Google Map ให้สามารถวิเคราะห์ แสดงผลข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ได้
๕.๓ จัดเก็บและบันทึกข้อมูลคุณภาพชีวิต มอบหมายกลุ่มเยาวชนคลื่นลูกใหม่ทิวไผ่งามดำเนินการสัมภาษณ์จัดเก็บข้อมูลจากหัวหน้าครัวเรือน ๑๕๒ ครัวเรือน และตัวแทนกลุ่มเยาวชนร่วมบันทึกข้อมูลลงโปรแกรมจนเสร็จสิ้น
๕.๔ เวทีประชาคมบันทึกพิกัดครัวเรือนและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลคุณภาพชีวิต คณะทำงานฯหมู่บ้าน จัดเวทีประชาคมให้ครัวเรือนตรวจสอบพิกัดจากโปแกรม Google Map เพื่อยืนยันความถูกต้องของตำแหน่งที่ตั้งบ้าน และตรวจสอบความครบถ้วนและถูกต้องของข้อมูลที่จัดเก็บและบันทึกไว้ในระบบ ใช้เป็นฐานข้อมูลครัวเรือนในเชิงพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระดับครัวเรือนอื่นๆที่มีการจัดเก็บไว้แล้ว เช่น ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)
๕.๕ จัดการระบบฐานข้อมูลที่มีอยู่เดิมรองรับการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ เช่น ระบบฐานข้อมูลคุ้ม ระบบฐานข้อมูลถนนในหมู่บ้าน ระบบฐานข้อมูลทุนสังคม (ทุนมนุษย์ ทุนสถาบัน/องค์กร ทุนวัฒนธรรม ทุนทรัพยากร) ระบบฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)
๖. การจัดทำสารสนเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต (วิเคราะห์เป็นสารสนเทศ)

การวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศ ใช้วิธีการพิจารณาแต่ละประเด็นที่จัดเก็บข้อมูลได้แก่
1) ใช้ข้อมูลทางสถิติ เช่น ผลรวม ค่าเฉลี่ย เป็นต้น
2) จัดกลุ่มข้อมูลตามประเภทหรือกำหนดช่วงคะแนน
3) ใช้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เพื่อแสดงพื้นที่ที่เกิดปัญหา
โดยพิจารณาแต่ละประเด็นที่จัดเก็บข้อมูล ถ้าเรื่องใดเกี่ยวข้องกับปัญหาที่สรุปจากข้อมูล จปฐ. และ กชช.2ค ก็จะนำมาพิจารณาด้วย บางประเด็น ต้องใช้วิธีการพิจารณาร่วมกันทั้งผลรวม ค่าเฉลี่ย และข้อมูลเชิงพื้นที่ ในลักษณะข้อมูลทางภูมิศาสตร์ จากข้อมูลที่จัดเก็บสามารถวิเคราะห์ประเด็นปัญหาได้ 22 ประเด็น โดยแต่ละประเด็นจะพิจารณา ข้อมูลสารสนเทศที่ปรากฏ หลังจากนั้นนำไปวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขเป็นข้อๆ แต่ละประเด็นได้แนวทางแก้ไข 2-5 แนวทาง ที่จะต้องนำไปวางแผนต่อไป
๗. นำเสนอสารสนเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
จากการวิเคราะห์ 22 ประเด็นปัญหา ได้แนวทางการแก้ไขต่างๆ แล้ว จึงดำเนินการมาจัดหมวดหมู่ นำเสนอชุมชนให้เกิดพลังการรับรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ชุมชนมีข้อเสนอให้นำข้อมูลแนวทางแก้ไขปัญหาที่วิเคราะห์ได้จากสารสนเทศเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงแผนชุมชนประจำปี เพื่อกำหนดเป็นกิจกรรมโครงการแก้ไขปัญหาในห้วงปี 2559-2561 ต่อไป โดยคำนึงถึงทุนทางสังคมหรือทุนชุมชนที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้ ได้มีการเสนอแนวทางที่จะนำมาดำเนินการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ได้แก่
1) สร้างอาชีพสร้างรายได้ครัวเรือน โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มผลิตสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ที่เพียงพอกับความต้องการ และสร้างรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น
2) เสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มองค์กรชุมชน โดยการจัดเก็บข้อมูลกลุ่มองค์กร แล้วพิจารณากำหนดว่ากลุ่มองค์กรใดเข้มแข็ง กลุ่มองค์กรใดมีปัญหา จะต้องแก้ไขอย่างไร
๘. การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการพัฒนาคุณภาพชีวิต

1) การส่งเสริมการรวมกลุ่มผลิตสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน
1.1 การผลิตน้ำพริกแม่ชม้อย โดยใช้การถ่ายทอดภูมิปัญญาจาก นางเข็มทอง จิตหนักแน่น ให้แก่แม่บ้าน 2 ครัวเรือน จนเกิดผลิตภัณฑ์ “น้ำพริกชม้อย” ขึ้น มีน้ำพริกต่างๆ กว่า 6 ชนิด ส่งจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง
1.2 การทอเสื่อกก โดยชาวบ้านเล็งเห็นประโยชน์จากต้นกกที่ไร้ประโยชน์ไม่มีคนต้องการ ได้นำมาผลิตเป็นเสื่อกกแบบต่างๆ โดยอาศัยการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน จนเกิดผลิตภัณฑ์ “เสื่อกกบ้านไผ่” เป็นสินค้าเพิ่มอีกชนิด มี 6 ครัวเรือนที่ผลิตด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนฟืมที่ใช้ทอเสื่อไม่เพียงพอ
2) เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรชุมชน จากการจัดเก็บข้อมูลพบกลุ่มองค์กรในหมู่บ้านกว่า 20 กลุ่ม แต่ที่เข้มแข็งมีเพียงประมาณ 10 กลุ่ม นอกนั้น จะต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม
บทสรุป
การพัฒนาหมู่บ้านสารสนเทศต้นแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ บ้านไผ่ หมู่ที่ 13 ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นขั้นตอนเชื่องโยงชัดเจน แม้ว่าผลของการนำสารสนเทศสู่การแก้ไขปัญหาที่ยกเป็นกรณีตัวอย่าง เช่นน้ำพริกแม่ชม้อยและการทอเสื่อกก จะมีครัวเรือนที่ได้รับการพัฒนาเพียง 8 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณครัวเรือนละ 1,500 บาท ด้วยระยะเวลาที่จำกัด แต่หมู่บ้าน ได้นำเอาผลการวิเคราะห์สารสนเทศที่เหลือ นำเข้าสู่แผนชุมชน 3 ปี ก็นับว่าเป็นการใช้สารสนเทศเพื่อแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว และเชื่อว่าถ้าหากหมู่บ้านขับเคลื่อนไปโดยยึดแผนชุมชนแล้ว หมู่บ้านก็จะสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นได้ เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการนี้
ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของหมู่บ้านในการพัฒนาสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต คือ บุคลากรที่นอกจากจะมีความรู้เกี่ยวกับสารสนเทศแล้วยังต้องเข้าใจงานพัฒนาชุมชนดังเช่นหมู่บ้านนี้อีกด้วย รวมทั้งคนในชุมชนเองจะต้องตระหนักและเห็นความสำคัญของข้อมูลสารสนเทศที่ได้มา ด้วยการพร้อมใจให้ข้อมูลที่เป็นจริง และเปิดใจรับเอาผลการวิเคราะห์ไปพิจารณาแก้ไขปัญหาด้วยความร่วมแรงร่วมใจกัน มิเช่นนั้นแล้ว ต่อให้สารสนเทศจะต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงได้ข้อมูลที่ดีมากแค่ไหน ก็คงไร้ประโยชน์

องค์ความรู้โดย
นายสมพร พูลเพิ่ม พัฒนาการอำเภอรัตนุบรี จังหวัดสุรินทร์
วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘