
องค์ความรู้ : สารสนเทศสู่น้ำพริกแม่ชม้อย (บุญญิสา จันทร์ทอง)
ข้อมูลสารสนเทศสู่ผลิตภัณฑ์ “น้ำพริกแม่ชม้อย”
บ้านไผ่ หมู่ที่ ๑๓ ตำบลไผ่ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์

จากการพัฒนาหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านสารสนเทศต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ประจำปี 2558 ของ บ้านไผ่ หมู่ที่ 13 ตำบลไผ่ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ทำให้หมู่บ้านได้ทราบผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ว่าคนในชุมชนหากไม่นับอาชีพทำนาซึ่งใช้การจ้างและเครื่องทุ่นแรงแล้ว ก็ถือว่าว่างงานจำนวนมาก ทั้งที่รายจ่ายมากเกินรายได้ ก่อให้เกิดภาวะหนี้สิน จากการวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศให้ข้อเสนอแนะว่า ควรส่งเสริมอาชีพให้คนในชุมชน และมุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคณะศึกษาดูงาน โดยคำนึงถึงทุนชุมชนที่มีอยู่
ผลจากการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศต่อเวทีประชาคม ส่งผลให้ นางวิภาดา เขียวอ่อน และนางกาญจนา พุดจีบ ชาวบ้านไผ่ มีความสนใจอยากมีอาชีพเสริม มีผลิตภัณฑ์ชุมชนจำหน่ายทั่วไป และมีความถนัดทางด้านอาหาร จึงได้ปรึกษาแกนนำหมู่บ้าน (นายประหยัด พุดจีบ)

จากการสืบค้นทุนชุมชน ด้านทุนมนุษย์ ได้ค้นพบปราชญ์ชาวบ้านด้านการประกอบอาหารที่เป็นที่ยอมรับ คือนางเข็มทอง จิตหนักแน่น มีความสามารถในการทำน้ำพริกได้หลายอย่างและมีลูกค้าที่ชื่นชอบในฝีมือ ซึ่งท่านจบการศึกษาจากโรงเรียนการช่างสตรีสุรินทร์ ระดับการช่างสตรีชั้นสูง (ปัจจุบันคือวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์) เคยทำน้ำพริกจำหน่าย แต่ต้องเลิกไปเพราะปัญหาสุขภาพและบุตรหลานเป็นห่วง
เริ่มต้นด้วยการพูดคุยและตกลงถ่ายทอดภูมิปัญญานี้แก่ลูกหลาน โดยผู้ที่สนใจทั้ง 2 ท่านออกค่าใช้จ่ายเองในค่าวัสดุฝึกและค่าวิทยากร ซึ่งภายหลังได้ขอกู้เงินส่งเสริมอาชีพกับสถาบันการเงินชุมชน จำนวน 15,000 บาท ผ่อนชำระรายเดือน เพราะสถาบันการเงินเห็นการดำเนินการจริง การถ่ายทอดเริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2558 รวม 3 วัน ได้สูตรทำน้ำพริก 6 ชนิด ได้แก่ น้ำพริกไข่เค็ม น้ำพริกมะขาม น้ำพริกป่า น้ำพริกเผากุ้ง น้ำพริกกากหมู และปลาร้าบอง ท่านได้ถ่ายทอดความรู้อย่างเต็มที่ ท่านมีความเอาใจใส่ในการทำอาหารเป็นอย่างมาก การเลือกใช้วัตถุดิบจะเน้นที่ความสะอาดและคำนึงถึงผู้บริโภคเสมอ
หลังจากสิ้นสุดการเรียนรู้ ผู้สนใจทั้ง 2 ท่าน ได้เริ่มดำเนินการผลิต โดยมีนายประหยัด พุดจีบ คอยให้คำแนะนำ ด้านกระบวนการผลิต การคิดต้นทุน การบันทึกบัญชี รวมทั้งการตลาด ออกแบบฉลากให้และถ่ายภาพน้ำพริกประชาสัมพันธ์ขายในเว็บไซต์หมู่บ้าน ในชื่อ “น้ำพริกแม่ชม้อย” ตามชื่อปราชญ์ผู้ถ่ายทอดความรู้อีกด้วย

นับเป็นกรณีตัวอย่างของการนำข้อมูลสารสนเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมอาชีพได้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่การสร้างความตระหนักและเห็นความสำคัญในการประกอบอาชีพ การเชื่อมโยงทุนมนุษย์ (นางเข็มทอง จิตหนักแน่น) ทุนองค์กร (สถาบันการเงินชุมชน) ทำให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยที่ไม่ได้ร้องขออะไรจากหน่วยงานภายนอก สมแล้วที่เป็นหมู่บ้านต้นแบบแห่งการพึ่งพาตนเอง

องค์ความรู้โดย
นางบุญญิสา จันทร์ทอง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๘
1 thought on “น้ำพริกแม่ชม้อย”