กองทุนหมู่บ้านสู่สถาบันการเงินชุมชนครบวงจร
บ้านไผ่ หมู่ที่ 13 ตำบลไผ่ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์
1. ความเป็นมาของกองทุนหมู่บ้านและความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้าน
1.1 ความเป็นมาของกองทุนหมู่บ้าน

กองทุนหมู่บ้านไผ่ หมู่ที่ 13 ตำบลไผ่ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ก่อตั้งตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ได้รับการจัดสรรเงินกองทุนจากรัฐบาลเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2544 จำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) มีสมาชิกจัดตั้ง 70 คน คณะกรรมการกองทุนชุดแรก 15 คน โดยมีนายนเรศ ทองพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมการสมัยแรก ใช้บ้านเลขที่ 62 บ้านไผ่ หมู่ที่ 13 เป็นที่ทำการกองทุน
วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2546 ได้จัดตั้งกองทุนสวัสดิภาพชุมชนบ้านไผ่ หมู่ที่ 13 จากเงินผลกำไรบางส่วนที่เหลือจากการจัดสรร ในสมัยนายนเรศ ทองพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมการ
ปี พ.ศ. 2546 ได้รับการประเมินจัดระดับมาตรฐานกองทุน โดยได้ระดับ AAA จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการชุดแรก จึงได้รับเงินเพิ่ม 100,000 บาท เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ในสมัยนายประหยัด พุดจีบ เป็นประธานคณะกรรมการ
ปี พ.ศ. 2547 ได้เริ่มต้นก่อสร้างสำนักงานกองทุนขึ้น โดยมติที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน ให้ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของศาลาประชาคม โดยใช้งบประมาณจากผลกำไรประจำปี 2546 และปี 2547 สร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ในสมัยนายประหยัด พุดจีบ เป็นประธานคณะกรรมการ
ปี พ.ศ. 2549 เริ่มนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้อย่างจริงจัง โดยเงินผลกำไรประจำปี 2548 จัดซื้อด้วยงบประมาณ 21,840 บาท ซึ่งตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 ได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการเก็บข้อมูลของกองทุน โดยนายประหยัด พุดจีบ ประธานคณะกรรมการ ได้พัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปในการบริหารจัดการกองทุนไปพร้อมๆ กับการทดลองใช้จริง และแก้ไขให้เหมาะสมกับการดำเนินงานของกองทุนเรื่อยมา ในช่วงปี 2549 นี้ มีการจัดทำแผนพัฒนากองทุน 3 ปีขึ้น ทำให้มีแนวทางและเป้าหมายในการพัฒนาที่ชัดเจน
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2549 กองทุนหมู่บ้านได้เปิดรับฝาก-ถอนเงินเหมือนธนาคาร เป็นวันแรก ตามแผนการระดมทุนให้เพียงพอกับความต้องการของสมาชิก โดยเปิดทำการในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ตั้งแต่เวลา 15.00-17.00 น.
วันที่ 8 สิงหาคม 2550 กองทุนได้รับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547
วันที่ 30 ธันวาคม 2552 ได้รับเงินจัดสรรเพิ่ม 2 แสนบาท ตามนโยบายรัฐบาล
ปัจจุบัน มีสมาชิกรวม 131 ราย คณะกรรมการ 15 คน มีนายประหยัด พุดจีบ เป็นประธานคณะกรรมการ เนื่องจากมีสมาชิกมาใช้บริการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องขยายเวลาเปิดทำการโดยเปิดทำการวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 น. มีเงินทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 3,778,790 บาท (31 ธ.ค. 2552) โดยแยกเป็น

บัญชีเงินล้าน (1) มีเงินหมุนเวียน 1,444,955 บาท แยกเป็น
– รัฐจัดสรรให้ 1,300,000 บาท – กำไรสุทธิ 58,283 บาท
– เงินสมทบกองทุน 86,672 บาท (ลูกหนี้ 1,171,570 บาท)
บัญชีเงินออม (2) มีเงินหมุนเวียน 1,478,356 บาท แยกเป็น
– เงินรับฝาก 1,231,139 บาท – เงินสัจจะ 118,470 บาท
– เงินหุ้น 89,670 บาท – กำไรสุทธิ 39,076 บาท
(ลูกหนี้ 1,041,959 บาท)
บัญชีเงินเพิ่มทุน (3) มีเงินหมุนเวียน 855,479 บาท แยกเป็น
– เงินกู้สถาบันการเงิน 819,020 บาท – กำไรสุทธิ 36,459 บาท
(ลูกหนี้ 239,915 บาท)
1.2 ความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านเมื่อมีกองทุนหมู่บ้าน
เมื่อมีกองทุนหมู่บ้าน ชุมชนมีแหล่งเงินกู้ สมาชิกในชุมชนได้กู้เงินไปดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ มีเงินทุนหมุนเวียนในชุมชน มีผลกำไรนำไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์และจัดสวัสดิการให้คนในชุมชน
แม้ในช่วงแรกจะมีการกู้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ก่อเกิดปัญหาหนี้สินแก่สมาชิก แต่กองทุนก็มีการทบทวนตัวเอง กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้วยแผนพัฒนา 3 ปี มีการระดมเงินทุน จนทำให้สามารถเปิดการกู้ยืมประเภทใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของสมาชิก มีบริการที่ตอบสนองความต้องการของสมาชิกและคนในชุมชน และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกได้ในหลายด้าน ได้แก่
1) ส่งเสริมการออมโดยการเปิดรับฝาก-ถอน ยอดรับฝาก 1,231,139 บาท
2) ส่งเสริมอาชีพที่แท้จริง เพิ่มขึ้น 10 ราย วงเงินประมาณ 147,000 บาท
3) แก้ไขปัญหาหนี้สินได้ 9 ราย วงเงิน 197,454 บาท
4) ส่งเสริมปัจจัยพื้นฐานได้ 4 ราย วงเงิน 117,000 บาท
5) สามารถป้องกันสมาชิกเข้าสู่หนี้นอกระบบระยะสั้นได้ 742,924 บาท
6) สามารถแก้ปัญหาด้านการเงินของกลุ่มอาชีพได้ 1 กลุ่ม วงเงิน 21,411 บาท
นอกจากนี้ ยังมีบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับสมาชิกและคนในชุมชน ได้แก่ การให้บริการออนไลน์ทางด้านการเงิน บริการรับ-ส่งโทรสาร บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย และให้คำปรึกษาทางด้านการเงินแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป เป็นต้น
2. กระบวนการขั้นตอนการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน
การบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านไผ่ หมู่ที่ 13 จนสามารถแก้ไขปัญหาให้กับสมาชิกในชุมชนได้อย่างแท้จริงนั้น เริ่มต้นจากการมองปัญหาและความต้องการของสมาชิกเป็นสำคัญ มากกว่าการมุ่งสร้างผลกำไร มีการจัดเวทีทบทวนปัญหาและความต้องการของสมาชิกในชุมชน โดยเป็นเวทีร่วมระหว่างคณะกรรมการกองทุน ที่ปรึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ จนได้มีการกำหนดแผนพัฒนา 3 ปีขึ้น โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา ความต้องการ จุดแข็ง จุดอ่อน ของกองทุนหมู่บ้าน
2. ร่วมกันกำหนดเป้าหมายของกองทุนหมู่บ้านในอนาคต โดยกำหนดออกมาเป็นวิสัยทัศน์คือ “การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน บนพื้นฐานความเอื้ออาทรและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย สู่เป้าหมายสถาบันการเงินที่มั่นคงและเข้มแข็ง”
3. เชื่องโยงปัญหาความต้องการกับจุดแข็งของกองทุนหมู่บ้าน กำหนดเป็นแนวทางการพัฒนาเพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด คือ
1) การพัฒนาด้านบุคลากร พัฒนาให้คณะกรรมการมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ มีความสุขและมีเจตคติที่ดีต่อการปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวม และมีคุณธรรม โดยมีการปรับโครงสร้างการบริหารงานกำหนดตำแหน่งให้เหมาะสมกับงานของกองทุน และเหมาะสมกับความรู้ความสามารถของคณะกรรมการ จัดฝึกอบรมการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการบริหารจัดการกิจกรรมกองทุน
2) การพัฒนาด้านการบริหารจัดการ พัฒนาระบบการบริหารจัดการกองทุนให้มีความรวดเร็ว ถูกต้อง ทันสมัย และเหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชน โดยพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปที่มีระบบบริหารจัดการครอบคลุมทุกงานและมีความเชื่อมโยงกัน สามารถสรุปเป็นสารสนเทศได้ง่าย จัดให้มีป้ายนิเทศประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ แก่สมาชิกและคนในชุมชนอย่างทั่วถึง ให้มีวัสดุอุปกรณ์สำนักงานอย่างเพียงพอ ปรับภูมิทัศน์ด้านอาคารสำนักงานกองทุนให้น่าอยู่และสวยงาม

3) การพัฒนาด้านการระดมทุนและจัดหาแหล่งทุน ส่งเสริมให้คนในชุมชนใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสมกับรายได้และมีนิสัยการออมเงินไว้เพื่อใช้จ่ายในยามจำเป็น โดยเปิดให้บริการรับฝาก–ถอนเงินจากกลุ่มและบุคคลในชุมชนแบบเดียวกับธนาคาร จัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม
4) การพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต โดยเปิดให้มีการกู้ยืมแบบใหม่ ที่เน้นการสร้างอาชีพทั้งในรูปของกลุ่มและบุคคล โดยกองทุนมีส่วนร่วมในการลดความเสี่ยงและให้คำแนะนำ กำหนดวงเงินขอกู้และระยะเวลาการผ่อนชำระที่เหมาะสมกับแต่ละอาชีพ มีการกำหนดการกู้ยืมอื่นตามความต้องการและเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านการเงินให้กับสมาชิก จัดสวัสดิการแก่ผู้ด้อยโอกาสและคนในชุมชนอย่างทั่วถึง บนพื้นฐานความเอื้ออาทรต่อกัน ให้ความช่วยเหลือแก่คนในชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ และความจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน อย่างเพียงพอและทั่วถึง
5) การส่งเสริมความเป็นองค์กรชุมชน โดยสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ หวงแหน และภาคภูมิใจในหมู่บ้านและกองทุนแก่คนในชุมชน และให้ความสำคัญกับมติประชาคมเป็นหลักในการพัฒนากองทุน ปรับปรุงระบบงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป
4. ขับเคลื่อนแผนพัฒนาสู่การปฏิบัติ โดยเมื่อมีการสรุปงบการเงินจัดสรรผลกำไร จะพิจารณาให้ดำเนินการโครงการที่เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาที่กำหนด โดยกำหนดเป็นแผนปฏิบัติงานประจำปี

5. ปรับปรุงแผนพัฒนา โดยเมื่อครบรอบปีจะมีการประชุมทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา และปรับปรุงแผนพัฒนา
3. บทเรียนที่ดีจากการทำงานและแนวทางการนำไปปฏิบัติ
1. การพัฒนากองทุนหมู่บ้านจะต้องมองที่ผลผลิต นั่นคือสมาชิกและคนในชุมชนจะต้องอยู่ดีมีสุขอย่างแท้จริงจากการให้บริการทางการเงินของกองทุนหมู่บ้าน
2. การพัฒนากิจกรรมกองทุนให้หลากหลายครอบคลุมความต้องการและตอบสนองต่อปัญหาของสมาชิกและชุมชนสู่การเป็นสถาบันการเงินชุมชน จำเป็นจะต้องนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการและจัดเก็บข้อมูล เพื่อความถูกต้อง รวดเร็ว มีความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นแก่สมาชิกและคนในชุมชน
3. ก่อนการพัฒนาใดๆ จะต้องทบทวนปัญหา ยอมรับปัญหาร่วมกัน แล้วมีการกำหนดแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน เพื่อความเข้าใจตรงกันระหว่างคณะกรรมการ สมาชิก และชุมชน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ
4. เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกและคนในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม จะต้องมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนากับกลุ่ม/องค์กรอื่นในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนชุมชน มีความสำคัญต่อความร่วมมือเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาไปด้วยกันสู่เป้าหมายสูงสุดคือชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้การสร้างเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านในระดับต่างๆ ก็มีผลต่อความมั่นคงและการพัฒนา
5. ควรมีการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน โดยเปิดโอกาสให้คนในชุมชน เด็กและเยาวชน ได้เข้ามาเรียนรู้กระบวนการบริหารจัดการ เพื่อสร้างทีมงานที่เข้มแข็งในอนาคต ก่อเกิดความยั่งยืนต่อไป
แนวทางสำหรับกองทุนหมู่บ้านอื่นที่จะนำไปพัฒนาการบริหารจัดการ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ สภาพปัญหาและความต้องการของสมาชิกและคนในชุมชนเป็นหลัก ควรมีการพัฒนาให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกัน มีการกำหนดแผนงานที่ชัดเจนโดยการมีส่วนร่วม เน้นความอยู่ดีมีสุขของชุมชนเป็นสำคัญ การนำระบบคอมพิวเตอร์เข้าไปใช้ในการบริหารจัดการจะต้องมีความจำเป็นเพียงพอและมีบุคลากรที่มีความพร้อม
4. ผลงานเด่น/ผลงานที่ภาคภูมิใจและปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ
4.1 ผลงานเด่น/ผลงานที่ภาคภูมิใจ
1. สามารถบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน จนมีกิจกรรมที่หลากหลายและครอบคลุมสู่การเป็นสถาบันการเงินชุมชนที่แท้จริงได้ด้วยตนเอง โดยไม่มีธนาคารเป็นพี่เลี้ยง
2. สามารถแก้ไขปัญหาและให้บริการทางด้านการเงินแก่สมาชิกและคนในชุมชนได้จริง สร้างความประทับใจและความพึงพอใจ จนทำให้กองทุนหมู่บ้านได้รับความเชื่อมั่นจากสมาชิกและคนในชุมชน ก่อเกิดความภาคภูมิใจร่วมกันทั้งชุมชน
3. ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานและกลุ่ม/องค์กรอื่นเกี่ยวกับการบริหารจัดการจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และได้รับรองคณะศึกษาดูงานทั้งในและนอกจังหวัด
4. ได้รับการประเมินเป็น “กิจกรรมพัฒนาชุมชนดีเด่น รางวัลสิงห์ทอง” ตามโครงการเชิดชูเกียรติผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่น ประจำปี 2553 จากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
4.2 ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ
1. ความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ ความสามัคคีของสมาชิกและคนในชุมชน
2. คณะกรรมการที่มีจิตอาสา ร่วมใจกันพัฒนากองทุนหมู่บ้านสู่การเป็นธนาคารหมู่บ้านอย่างภาคภูมิใจ
3. มีทุนทางสังคมที่ดี โดยเฉพาะทุนมนุษย์ ประธานคณะกรรมการที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี มีความเสียสละ มีจิตอาสา พัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปให้ใช้โดยไม่คิดมูลค่า
4. มีระบบบริหารจัดการที่ดี ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปที่มีความเป็นมิตรกับผู้ใช้ทุกวัย ใช้งานง่าย ระบบมีความเชื่อมโยงกันลดภาระการจัดทำบัญชี
5. มีแผนพัฒนาที่ชัดเจน ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
6. คณะกรรมการไม่เห็นแก่ญาติมิตร ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และมีคุณธรรม ทำให้สมาชิกปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่ร่วมกันตั้งขึ้น
5. แผนการดำเนินงานในอนาคต
1. พัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปให้สามารถทำงานในลักษณะเครือข่าย เพื่อการให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว
2. พัฒนาระบบสวัสดิการของสมาชิกและคนในชุมชน รวมทั้งการจัดการผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สมาชิกและชุมชนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สร้างความอยู่ดีมีสุขที่แท้จริง
3. มีการนำผลกำไรส่วนหนึ่งลงทุนดำเนินกิจการที่เป็นความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน เพื่อให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้นมาจัดสวัสดิการได้อย่างเพียงพอ
4. ขอรับการสนับสนุนเงินอุดหนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของคนในชุมชน ระดมทุนเพิ่มจากการออมแบบมีเงื่อนไข ส่งเสริมให้กลุ่ม/องค์กรมาใช้บริการฝาก-ถอน
5. จัดทำองค์ความรู้ และออกแบบฐานการเรียนรู้ เพื่อใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้การบริหารจัดการทุนชุมชน และจัดให้มีกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชนคนรุ่นใหม่
6. ปรับปรุงอาคารสำนักงานให้เพียงพอต่อการให้บริการที่ครบวงจรแก่สมาชิกและคนในชุมชน
6. คำแนะนำ/ข้อพึงระวังในการดำเนินงานกิจกรรม
1. การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านหรือสถาบันการเงินชุมชน จะต้องคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของสมาชิกและคนในชุมชนมากกว่าการมุ่งหวังผลกำไรจำนวนมากจากดอกเบี้ยเงินกู้
2. การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการจะต้องนำมาใช้อย่างเข้าใจ และให้ตระหนักเสมอว่า “เทคโนโลยีไม่ใช่การบริหารจัดการแต่เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้บริหารจัดการ” เท่านั้น
3. เนื่องจากเป็นองค์กรชุมชน ดังนั้นเมื่อมีการพิจารณาเรื่องใดๆ ควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในแต่ละระดับ ว่าเรื่องใดควรใช้มติคณะกรรมการ เรื่องใดควรใช้มติประชาคม
4. ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับที่ร่วมกันตั้งขึ้น คณะกรรมการไม่เห็นแก่ญาติมิตร ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และมีคุณธรรม จะทำให้ระเบียบข้อบังคับมีความศักดิ์สิทธิ์


องค์ความรู้โดย
นายประหยัด พุดจีบ ตำแหน่ง ประธานกองทุนหมู่บ้านไผ่ หมู่ที่ 13
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553
สวัสดีครับ
ภายในองค์กรของผมเริ่มจัดตั้งสหกรณ์ขึ้น มีการฝากเงิน กู้เงิน รับสมัครสมาชิก และเพิ่มหุ้น ผมสนใจโปรแกรมที่ท่านพัฒนาขึ้น จึงขอสอบถามรายละเอียดหรือค่าใช้จ่ายสำหรับโปรแกรมตั้วนี้ครับ
ขอบคุณครับ
สหกรณ์บริการคิงวินและเพื่อน จำกัด
ตอนนี้กำลังพัฒนาโปรแกรมใหม่ครับ รอข่าวในหน้าเว็บครับ